แชร์ประสบการณ์ เรียนปลูกผักและฟาร์มออแกนิค ที่ Harmony Life (วันที่ 1)
สถานที่ : ฮาร์โมนี ไลฟ์ ฟาร์ม ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แผนที่
เวลา : 22–23 มกราคม 2559
วันที่ 1 10.00–17.00 น.
- ภาคเช้า | บรรยายประวัติความเป็นมาของฟาร์ม ความหมายของออร์แกนิคและการทำฟาร์มออร์แกนิค และแนวทางการปฎิบัติ
- ภาคบ่าย | ภาคปฎิบัติ ลงแปลงอธิบายการปลูกผัก สอนทำปุ๋ย ดูวิธี การเลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว เพาะเห็ด ฯลฯ
วันที่ 2 09.00–16.00 น.
- ภาคเช้า | สรุปการสอนของวันที่แล้วและสอนเรื่องการปลูกผักชนิดต่างๆ การวางผังไร่สวน การวางระบบน้ำ
- ภาคบ่าย |สอนวิธีเก็บเมล็ดพันธุ์ ทำปุ๋ยและ EM เพาะต้นกล้า ลงแปลงปลูกผักใส่ปุ๋ย รดน้ำ
โดยมีค่าใช้จ่ายอบรมและค่าอาหารกลางวัน 2 มื้อ รวม 2,400 บาท
ผมขับรถตรงมาจากกรุงเทพฯ ออกมาราวๆ 7 โมงครึ่ง มาถึงที่ไร่ก็สิบโมงตรงพอดี ลงทะเบียนเสร็จก็รีบดื่มน้ำกระเจี๊ยบและน้ำโมโรฮียะที่ทางไร่เตรียมไว้ก่อนเริ่ม อร่อยสดชื่นทีเดียว
มีผู้เข้าร่วมอบรมราวๆ 20 คน มีเกษตรที่ทำไร่ทำสวนอยู่แล้วแต่อยากหันมาใช้วิถีออร์แกนิค วัยเกษียณหรือครอบครัวที่มีที่มีทุนสนใจจะทำด้านนี้ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุประมาณ 25–35) อยู่ 3–4 กลุ่ม แถมชาวญี่ปุ่นอีกสองท่าน ที่มาคนเดียวก็มีแค่ผมกับ อ.จิ๊บ ที่มารู้จักกันที่นี่
คุณโช โอกะ เจ้าของสอนด้วยตัวเองโดยใช้ภาษาญี่ปุ่น โดยมีล่ามเป็นคุณดารินี ทำให้ผมได้ฝึกภาษาญี่ปุ่นที่พยายามเรียนด้วยตัวเองอยู่ไปโดยปริยาย
เนื้อหาเริ่มด้วยความเป็นมาของไร่ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็น่าจะพอหาอ่านได้จากหนังสือ ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นที่ไร่ แต่การได้มาฟังจากเจ้าตัวเองก็ทำให้รู้ได้ว่าคุณลุงท่าทางใจดีคนนี้ เป็นนักสู้ สู้เพื่อให้เรามีชีวิตที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เหมือนชื่อไร่ Harmonylife
เรื่องที่ว่าทำไมต้องทำเกษตรอินทรีย์ หรือโทษของสารพิษในปู๋ยเคมี คงจะพอรู้กันอยู่ หรือไม่ก็พอหาอ่านได้ทั่วไป ผมเองประทับใจในเรื่องความมหัศจรรย์ของจุลินทรีย์เป็นพิเศษ คุณโชบอกว่าดินที่ดีก็คือดินที่มีจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตมาก ลุงโชว์ดินขนาด 1 กร้ม ให้ดู (เล็กกว่าเมนทอส) แล้วถามว่าในดินนี้มีจุลินทรีย์กี่ตัว พวกเราก็ตอบกันหลักล้าน ร้อยล้านกะว่าเยอะแล้ว แต่ลุงเฉลยว่า 3 พันล้านตัว โอ้แม่เจ้า
ภายในดินจะมีสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการหมักอยู่ มีทั้งเชื้อเน่า และ เชื้อดี จุลินทรีย์สิ่งมีชีวิต (ยีสต์, แลตโตบาซิลัส, จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง) ทำให้เกิดการย่อยสลายและยังมีเอนไซน์ที่ดีต่อการเจริญเติบโตของผัก หากมีจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตน้อย เชื้อเน่าก็จะแพร่กระจาย ทำให้เกิดการเน่าของดินและผักไม่โต ถ้ามีมากจะทำให้ดินร่วนซุย ยิ่งมากก็ยิ่งมีโรคและแมลงน้อยลง ผักงามและอร่อยมากขึ้น
การรด EM หรือใส่ปุ๋ยชีวภาพก็เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ดีๆ เหล่านี้ลงไปเพื่อให้มันเติบโต นอกจากนั้นคุณโชยังใส่ EM ลงในน้ำที่ใช้เพาะปลูกอีกด้วย
ลุงโชยกตัวอย่างการปลูกกะหล่ำปลีที่ปลูกได้ยากเพราะแมลงชอบกินว่า ตอนปลูกใหม่ๆ มีแมลงกินเยอะ ไม่สำเร็จ ต้องใช้น้ำยาไล่แมลง แต่พอปลูกต่อไป มีการคัดเลือกเมล็ดที่แข็งแรงเพื่อปลูกในรอบต่อไป พันธ์ุก็ดีขึ้นเรื่อยๆ หลายปีเข้าดินก็เริ่มดีขึ้น ทำให้ผักแข็งแรงมากขึ้น ลุงโชพบว่าเมื่อผักแข็งแรง แมลงจะไม่กิน การฉีดยาฆ่าแมลงเป็นการทำลายดินและทำให้พันธฺ์พืชอ่อนแอลงเรื่อยๆ แมลงก็มารุมกินผักที่อ่อนแอ จริงๆแล้วแมลงก็มีหน้าที่นี้นี่เอง คือกินของที่มนุษย์ไม่กิน แต่มันเสียสมดุลเพราะมนุษย์จะเอาแต่ได้อย่างเดียว จะกินเองหมด
ช่วงบ่ายหลังจากที่ได้กินและเม้ามอยกันได้ที่ เราลงมาจากห้องบรรยายเพื่อดูการสาธิตการทำ EM และปุ๋ยชนิดต่างๆ สิ่งที่สังเกตได้ชัดเลยก็คือ การจัดสถานที่ทำงานอย่างเป็นระบบและสะอาดเป็นระเบียบมาก อาจจะเป็นเพราะคุณโชที่เป็นคนญี่ปุ่นก็เป็นได้ (หรือลูกน้องอาจจะทำให้สะอาดเป็นพิเศษ เพราะเจ้านายมาเอง อิอิ)
ในส่วน EM ที่นี่ใช้ถังสีขาวขนาด 200 ลิตร มีทั้งที่บรรจุหัวเชื้อ (NM-1) และส่วนที่x นำขยาย ภาชนะต้องปิดสนิทและต้องมีการวัดค่า pH ให้ได้ต่ำกว่า 3.5 ก่อนนำไปใช้ หัวเชื้อสามารถขยายได้ถึง 20 เท่า และไม่ควรนำไปขยายต่อเพราะจะเสียประสิทธิภาพไปมาก หมักเพียง 2–3 สัปดาห์ก็นำไปใช้ได้ น้ำที่นำมาขยายก็ไม่ควรเป็นน้ำประปา ถ้าหาน้ำธรรมชาติไม่ได้ก็ให้รองน้ำมาทิ้งไว้ให้คลอรีนระเหยไปก่อนซัก 2–3 วัน ผมมองเห็นได้เลยว่าการเพราะ EM ลักษณะนี้แทบไม่มีรายจ่าย ซึ่งทำให้ลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก
สำหรับพวกเราที่ไม่ต้องการทำหัวเชื้อก็สามารถหาซื้อได้ที่ Harmonylife หรือซื้อ EM หัวเชื้อฝาเขียวได้ตามร้านอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป
เดินมาอีกหน่อยก็จะเจอ บ่อขุดขนาด 50x50 เมตรที่ใช้สำหรับเพาะปลูกทั่วทั้งไร่ โดยเป็นน้ำบาดาลที่สูบขึ้นมาจากตาน้ำลึกถึง 150 เมตร นอกจากจะมีบ่อเพื่อใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ ก็ยังมีหน้าที่ทำให้แร่ธาตุที่มีเข้มข้นอยู่ในน้ำได้เจือจาง ลุงโชตั้งถัง EM 200 ลิตร สองถังไว้ข้างๆ บ่อด้วย โดยจะผลัดกันปล่อยลงน้ำทุกๆ 10 วัน น้ำที่บ่อใสมากๆ และน่าจะเต็มไปด้วยอาหารและจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตพร้อมนำไปรดให้พืขผักในสวนทุกเช้าเย็น EM นี่ทำแล้วใช้ประโยชน์ได้เยอะจริงๆ ครับ
หลังจากนั้นก็เดินทะลุเข้าไปในส่วนที่เพาะปลูก (เดี๋ยวจะมีผังของไร่ให้ดูครับ) เดินผ่านแปลงผักสลัด แก้วมังกร แครอท กล้วย ข้าว ฯลฯ เดินผ่านโรงเลี้ยงไก่และวัว ไก่ตัวผู้ตัวเมียเลี้ยงปะปนกันในพื้นที่เปิด ไก่เดินเล่นกันสนุกสนาน ลุงโชปลูกต้นมะนาวเอาไว้ในเล้าไก่ด้วยเพราะชอบไนโตรเจน(มีมากในขึ้ไก่)แล้วไก่ก็ไม่ชอบกินอีกด้วย ถ้ดไปอีกหน่อย คือจุดที่อยู่ต่ำสุดของที่ดินจะมีธารน้ำ ลุงโชปลูกข้าวและกล้วยเอาไว้ใกล้ๆ เพราะชอบน้ำทั้งคู่
ส่วนที่มีความสำคัญมากสำหรับคนที่จะเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ก็คือการเตรียมปุ๋ย ที่ดินที่ไม่เคยถูกพัฒนามาก่อนก็มักจะมีสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และการซื้อปุ๋ยมาโรยให้ทั่วคงจะกินเงินมหาศาล การเตรียมปุ๋ยยังต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก็ทำปุ๋ยรอไว้เลยครับ (รุ่นน้องผมสั่งของมาเตรียมทำละ ตัวจริงว่ะ!)
สูตรการทำก็ได้แนบไว้แล้ว จะเห็นว่าต้องมีปุ๋ยน้ำปลาด้วย ใครอยากทำไร่จริงจังอย่าลืมว่า เราจะต้องรู้ที่มาที่ไปของส่วนผสมทุกอย่างให้ปราศจากเคมี การซื้อขึ้วัว ขี้ไกจากที่อื่นนั้น เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาเลี้ยงอย่างไร จะทำให้เราขอรับรองไม่ผ่านได้ สุดท้ายก็ต้องเลี้ยงเองให้ครบวงจร ลุงโชตอนแรกๆก็ต้องซื้อเหมือนกัน เพราะยังไม่มีวัวและไก่ ขึ้ที่ซื้อมาจะ “เหม็นมาก”(ลุงโชพูดใส่อารมณ์เป็นภาษาไทย) แต่พอเลี้ยงเองกลับไม่เหม็น ใครๆ ก็บ่นว่าขี้ไก่เหม็น ที่นี่บ้านไก่ไม่มีกลิ่นเลยครับ เป็นเพราะเชื้อเน่าไม่มีนั่นเอง
ดูสูตรการทำปุ๋ยแล้วลุยเลยครับ
ลุงโชพามาดูปุ๋ยที่หมักเสร็จพร้อมใช้งาน พบว่ายุบลงไปมากอาจจะหนาประมาณแค่ไม่ถึงฟุตด้วยซ้ำ ลักษณะร่วนซุยและชื้นนิดๆ
ใกล้ๆกับบริเวณที่ใช้ทำปุ๋ย ลุงโชก่ออิฐบล็อกขึ้นเพื่อใช้ในการเผาแกลบดำ ซึ่งใช้ในการปรับค่ากรดด่างของดินและใช้ในการทำปุ๋ยโปกาชิ ที่เรากำลังจะทำเป็นสิ่งต่อไป
สุดท้ายของวันนี้เรามาลุยทำปุ๋ยโปกาชิ ชื่อญี่ปุ่นบอกที่มาว่าใครคิด ปุ๋ยโปกาชิเป็นปุ๋ยที่เต็มไปด้วยสารอาหารสำหรับพืชครับ ทำให้เติบโต แข็งแรง ที่ญี่ปุ่นนิยมใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์แต่ก็ใช้ในไทยได้ดีเช่นกันครับ ถามว่าสารอาหารมากขนาดไหนก็ลองดูที่ส่วนผสมเลย คือ รวมเอาทั้งหมดไว้ในนี้แล้ว ตั้งแต่ แกลบดำ ขี้ไก่ ขี้วัว ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำปลา EMขยาย ฯลฯ
จังหวะนี้ทุกคนเริ่มเหนื่อยละครับ ยืนดูพี่ๆปรุงปุ๋ยกันอย่างทรงพลัง ไม่ต้องเข้าฟิตเนสล่ะครับ ส่วนที่เป็นน้ำให้ใส่ในถ้งเหมือนกับถังผสมปูนแล้วเทส่วนแห้งลงไปที่ละระลอกเพื่อให้เปียกโดยทั่วกัน หลังจากนั้นเทออกมากองไว้ แล้วใช้เสียมคลุกให้เข้ากัน หาอะไรมาคลุมกัน ห้ามโดนฝน เมื่อเสร็จแล้วก็เทใส่กระบะ ห้ามใส่ถุง เวลาใช้ก็ยกไปเลยทั้งกระบะครับ
ทิ้งปุ๋ยโปกาชิไว้ราว 1 เดือน ถ้ามีราสีขาวก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าสีเขียวหรือน้ำเงินห้ามใช้ครับ
จบการเรียนในวันแรกแล้ว ถือว่าจัดเต็มเลยทีเดียวครับ ได้เรียนรู้การทำปุ๋ยทั้ง 4 สูตร ซึ่งถ้ามีไร่ที่ครบวงจรแบบนี้ก็แทบไม่ต้องใช้ซื้ออะไรเลยครับ มีเพียงค่าแรงเท่านั้น ทำมากก็ได้ใช้มาก ขายทำเงินไปก็ยังได้ ระบบที่ว่านี้คิดว่าทุกคนคงต้องไปปรับใช้กับสถานการณ์ของตัวเอง แต่ความรู้ที่มีละเอียดขนาดนี้ถือว่าเราโชคดีมากครับ ที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกมาก
จบวันแรกด้วยรูปสวนผักยามเย็น วันนี้นอนหลับสนิทแน่ครับ
อ่านต่อ แชร์ประสบการณ์ เรียนปลูกผักและฟาร์มออร์แกนิกส์ ที่ Harmonylife (วันที่ 2)